ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน


ด้านสังคม 

     โครงการมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเน้นการพัฒนาคนเป็นหลัก ให้คนเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนา ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ราษฎรมีการรวมกลุ่มเพื่อวางแผนและทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้าน เช่น ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเพาะเห็ดฟาง กลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) กลุ่มธนาคารข้าว  มีการศึกษาเรียนรู้และแก้ปัญหาต่างๆร่วมกัน เพื่อพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้

 

 

ด้านเศรษฐกิจ 

     โครงการได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคง มีข้าวและอาหารสำหรับบริโภคมากขึ้น มีการถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ   ทั้งการทำให้ดู เรียนรู้จากการลงมือทำรวมทั้งพาไปศึกษาดูงานเพื่อให้เห็นโลกภายนอก ทำให้ราษฎรมีการพัฒนาในทุกด้านทั้งด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องเหมาะสม  ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมการทำเกษตรแบบอินทรีย์ทำให้มีผลผลิตในการทำอาชีพเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพ ราษฎรมีรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น รายจ่ายด้านต่างๆลดลง  มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคภายในครัวเรือน แหล่งอาหารในหมู่บ้านเริ่มกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหารประเภทโปรตีน เช่น ปลา กุ้ง ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น มีการเลี้ยงสัตว์จากการส่งเสริม เช่น หมูป่า หมูเหมยซาน สำหรับใช้บริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ ส่งผลให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม 
     การส่งเสริมและพัฒนาด้านอาชีพ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ส่งผลให้ราษฎรรู้และเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ยุติการตัดไม้ทำลายป่าและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรด้านต่างๆ มีกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า(รสทป.) กลุ่มอาสาสมัครป้องกันไฟป่า (อสฟป.) กลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการทำแนวกันไฟ ปลูกป่า ดูแลป่าและแหล่งน้ำ สร้างฝายชะลอความชื้น(Check dam) และมีความหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่น ผสมผสานกับภูมิปัญญาในท้องถิ่น ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้ราษฎร “อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูล”