ความเป็นมาของโครงการโดยสรุป
                                เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ  วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมอบให้ฝ่ายวิชาการ โครงการส่วนพระองค์ฯ เป็นผู้ดำเนินการ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้น ในปี 2539 สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินการทุกกิจกรรมของโครงการ พ.ศ. 2535-2540 ทรงมีพระราชปรารภ พระราชดำริและพระราชทานแนวทางการดำเนินงาน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกับนายพิศิษฐ์  วรอุไร และนายพรชัย  จุฑามาศ ในพระราชวโรกาสต่างๆ สรุปดังนี้
                                — ทรงมีพระราชปรารภถึงการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ทรงเห็นมีพรรณไม้เก่าๆ อยู่มาก เช่น ทุเรียนบางพันธุ์อาจยังคงมีลักษณะดีอยู่ แต่สวนเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพไป จึงทรงห่วงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นจะหมดไป
                                — พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช ควรอนุรักษ์พันธุ์ที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจไว้ด้วย
                                — ตามเกาะต่างๆมีพืชพรรณอยู่มากแต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย
                                — พระราชทานแนวทางการสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณ และเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเองจะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว
                                — ทรงมีพระราชดำริ ให้ทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์  ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า
                เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 พระราชทานพระราโชวาทให้คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร ผู้ร่วมสนองพระราชดำริและผู้ทูลเกล้าฯถวาย ที่เฝ้าทูลละอองพระบาท ในการประชุมประจำปีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
                ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ร่วมสนองพระราชดำรินั้น เกิดขึ้นมาจาก ศ.พิเศษ  ประชิดวามานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ของสำนักพระราชวังได้จัดส่งเอกสารและรายละเอียดต่างๆที่ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ น่าจะเข้าร่วมโครงการได้ คณะทำงานจึงสนองพระราชดำริในการจัดทำโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยในระยะแรกเป็นการร่วมมือร่วมใจกันทำงานในกลุ่มคณาจารย์โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน ในปีต่อๆมาใช้งบประมาณบางส่วนมาจากการสนับสนุนจากภาควิชา และจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สวนจิตรลดา
                และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมและทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานของโครงการพัฒนาบ้านโปง อันเนื่องมากจากพระราชดำริ ณ หมู่บ้านโปง ต่อจากนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังแปลงสำรวจทรัพยากรพันธุกรรมพืช ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้น้อมเกล้าถวายพื้นที่บางส่วนในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สวนจิตรลดา คณะทำงานได้จะนิทรรศการพร้อมแบบจำลองพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์ ศึกษา และพัฒนาป่าบ้านโปง ให้ทอดพระเนตรและกราบบังคมทูลถวายรายงานการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในปี พ.ศ. 2537 ที่ผ่านมา ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับสภาพความชุ่มชื้นของป่าภายหลังจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ
                นับจากระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 8 ปีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริ     ในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ