ความเป็นมา

        ลุ่มน้ำแจ่มเป็นลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำปิง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือตอนบน ลุ่มน้ำ        แม่แจ่มมีพื้นที่ประมาณ 3,637  ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นภูเขาสูงชันปกคลุมไปด้วยสังคมพืชป่าไม้ชนิดต่างๆ ประมาณ 90%  นอกนั้นเป็นที่ราบเชิงเขา ประมาณ 6.70 % และเป็นที่ราบลุ่ม 3.30% มีลำน้ำแม่แจ่มเป็นแหล่งน้ำสำคัญ บริเวณต้นน้ำอยู่ด้านทิศเหนือสุดของพื้นที่ ในเขตพื้นที่ตำบลวัดจันทร์ ไหลผ่านบริเวณส่วนกลางของพื้นที่อำเภอแม่แจ่มยาวประมาณ 135 กิโลเมตร และไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่บ้าน           สบแจ่มอีกรวม 26 สาย สำหรับในส่วนพื้นที่ราบลุ่มนั้น พบว่าพื้นที่ราบลุ่มบริเวณสองฝั่งริมน้ำแม่แจ่มใกล้ที่ว่าการอำเภอ มีพื้นที่ที่มากที่สุดประมาณ 47 % ของพื้นที่ราบลุ่มทั้งหมด ซึ่งสภาพเหมาะแก่การเพาะปลูก นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มขนาดเล็กกระจายอยู่ตามหุบเขาทั่วไป

        ปีพุทธศักราช 2525 จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสำรวจสภาพป่าบริเวณบ้านโม่งหลวงและบ้านโม่งน้อยหมู่ที่ 10 ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบัน หมู่ที่ 6  ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่)  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดขอบเขตในแผนที่พระราชทานให้ ซึ่งพบว่ามีสภาพป่าที่น่าสงวนไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แต่เนื่องจากมีราษฎรอาศัยอยู่จึงทรงให้มีการดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยให้กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักและมีส่วนราชการอื่นๆ ซึ่งได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาช่วยปฏิบัติงานเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ในส่วนของการดำเนินงานของกรมป่าไม้นั้นได้มอบหมายให้ฝ่ายป้องกันรักษาป่า สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ ทำหน้าที่ดูแลป้องกันรักษาป่า และส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ ดำเนินการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร แต่เนื่องจากราษฎรในพื้นที่ยังมีความยากจนขาดแคลนพื้นที่ทำกินอีกทั้งยังขาดพืชพรรณที่เหมาะสมและขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูก ดังนั้น  เพื่อให้ราษฎรหยุดยั้งการทำลายป่าและหันกลับมาอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ได้น้อมรับนโยบายและเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่โดยอาศัยแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในโครงการป่ารักน้ำ โดยให้ "คนอยู่คู่กับป่า” ด้วยการส่งเสริมให้ราษฎรมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ให้แนวทางที่จะเพาะปลูกทำกินได้โดยไม่ต้องบุกรุกทำลายป่า ปลูกสร้างจิตสำนึก และสนับสนุนให้ราษฎรในพื้นที่ให้เกิดความรู้สึกหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้และพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้ไว้สืบไป โดยได้รับพระราชทานนามว่า "สวนป่าสิริกิติ์”ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0004/1611 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2525 จากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริปรากฏว่า ราษฎรในพื้นที่โครงการมีความเข้าใจในด้านต่างๆ โดยราษฎรมีส่วนร่วม ซึ่งในที่สุดราษฎรก็จะสามารถพึ่งตนเองได้และอาศัยอยู่คู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล ก่อให้เกิดแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้อย่างแท้จริง